ปี 2022

  • เป็นปีที่ 2 แล้วที่ไม่อยากเขียนบันทึกอะไรยาวๆ
  • mePass ได้ก่อร่างสร้างตัวเป็น Project หนึ่งใน Privage เป็น Platform ขาย First piority Membership แบบ Decentralize มีจำนวนจำกัดและขายต่อได้ อยู่ระหว่างพูดคุยกับ Partner
  • Monster world และ WarClan ถือว่าหนักหน่วง แต่ก็ทำให้ได้รู้จักและก้าวเข้ามาในโลก NFT และ Blockchain Ecosystem แบบจริงจัง
  • Privage ยังคงเป็นทรัพย์สินหลักที่ Focus เดินตลาด Product ใหม่ปีแรก มีลูกค้าทั้งหมด 22 ธุรกิจ
  • ปี 2023 นี้คงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของ Privage หลายๆอย่าง โดยเฉพาะการปรับตัวไปเป็น On cloud business solution platform ที่มากกว่าแค่ Membership
  • เกลียดหลายๆบทความที่ตัวเองเขียนไว้เมื่อ 6-7 ปีที่แล้วมาก
  • เป้าหมายที่เคยเขียนไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีหลายอย่างที่ไม่อยากได้แล้ว
  • ปีนี้เหนื่อยกับการไปงานแต่งมากๆ รวมเกือบ 10 งาน

การันตียอดขายด้วยระบบบัตรสมาชิกหลายระดับ

ระบบบัตรสมาชิก สะสมแต้ม หรือ Membership solution ในปัจจุบันคือ CRM สำหรับธุรกิจ B2C นักการตลาดมักจะคุ้นเคยกับการทำบัตรสมาชิกอยู่แล้ว ให้บัตร แจกแต้มจากยอดขาย เอายอดขายไปแลกคูปอง เอาคูปองไปใช้เพื่อเป็นส่วนลด ซึ่งส่วนใหญ่จะมองในมุมตอบแทนเป็นของสมนาคุณให้กับลูกค้า

การทำบัตรสมาชิกหลายระดับก็เช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยๆคือ Silver, Gold และ Platinum ส่วนใหญ่นักการตลาดจะมองเพียงการเร่งยอดขายในระยะสั้น ผมอยากเสนอไอเดียการการันตียอดขายในระยะยาวเพิ่มเติม เช่น

Platinum ต้องซื้อมากกว่า 50,000 บาท ต่อปี

Gold ยอดซื้อ 10,001 – 50,000 บาท ต่อปี

Silver ยอดซื้อ 0 – 10,000 บาท ต่อปี

จะเห็นว่าหากปี 2022 ธุรกิจมีจำนวนสมาชิกประเภท Gold จำนวน 5,000 คน แสดงว่าธุรกิจจะการันตียอดขายได้ทันทีอย่างน้อย 10,000 x 5,000 = 50 ล้านบาท

หากมี Platinum 800 คน เราก็จะการันตียอดขายอีกถึง 50,000 x 800 = 40 ล้านบาท รวมกับ Gold อีก 5,000 คน เป็น 90 ล้านบาท

ดังนั้น KPI ที่สำคัญสำหรับการทำ CRM ที่สำคัญที่สุดคือ

“จำนวนบัตรสมาชิกแต่ละประเภทในแต่ละปี”

เพราะสามารถการันตียอดขายได้นั่นเอง ดังนั้นเป้าหมายในแต่ละปีคือการเพิ่มจำนวนสมาชิกแต่ละประเภทให้มากขึ้น ยิ่งมากขึ้น ยิ่งหมายถึงยอดขายที่ยิ่งการันตีต่อปีที่มากขึ้น ยังไม่นับรวมถึงความรู้สึกของสมาชิกต่อแบรนด์ที่ดีมากขึ้นด้วย

พริเวจมีทุกอย่างที่ธุรกิจต้องการ

https://line.privageapp.com

“ระบบบัตรสมาชิก สะสมแต้ม บน Line OA” – ลูกค้าสมัครสมาชิก สะสมแต้ม และแลกคูปองผ่าน Line โดยไม่ต้องโหลดโมบายแอปฯ

  • ฟีเจอร์บัตรสมาชิกหลายระดับ
  • ฟีเจอร์ปรับระดับสมาชิกอัตโนมัติตามยอดซื้อต่อปี

บัตรจะถูกปรับระดับทุกวันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยดูจากยอดซื้อในปีที่ (1 มกราคม – 31 ธันวาคมปีก่อนหน้า) แล้วว่าเข้าเงื่อนไขบัตรประเภทใบไหน จากนั้นจึง upgrade หรือ downgrade ให้อัตโนมัติ

สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line OA – https://lin.ee/iqIsEKr ครับ

Gon Gang คือ Best practice ของ Membership solution ของธุรกิจ B2C ในปัจจุบัน

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วนะครับสำหรับผมในอุตสาหกรรม Membership solution สำหรับธุรกิจ B2C ขนาดใหญ่ จากบัตรแข็งตั้งแต่ก่อนปี 2005 มาสู่ยุคที่บันทึกสมาชิกด้วย Software POS (Point of sale) จนมาถึงยุคที่ทุกธุรกิจพยายามมี Mobile application บัตรสมาชิกเป็นของตัวเองในปี 2012

ผมกับหุ้นส่วนก่อนตั้ง “พริเวจ” ขึ้นมาในยุคนั้นเอง ยุคที่ธุรกิจสามารถจัดการสมาชิก แต้ม ส่วนลด สิทธิประโยชน์ ทั้งแบบ In house และ Co – Brand กันได้เป็นหลักหลายสิบสมาชิกเป็นครั้งแรก ธุรกิจสามารถสื่อสารโดยตรงและลูกค้าตรวจสอบสถานะสมาชิกได้ตลอดเวลา ทำให้ลดต้นทุนในการจัดการลงมาก อีกทั้งยังตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันทีแบบ Real time เมื่อต้องการใช้

ใน 4 ปี ทุกธุรกิจขนาดกลาง – ใหญ่ ในไทยต่างมี Mobile application เป็นของตัวเอง แม้ว่ามันจะน่ารำคาญที่เราในฐานะลูกค้าจะต้องโหลดโมบายแอปฯของทุกแบรนด์ที่เราเป็นแฟนพันธ์แท้ ไหนจะแอปฯเต็มโทรศัพท์ ไหนจะลงทุนลงเวลาในการพยายามโหลดแอปฯ

จนปี 2019 Line เปิดตัว Line Official Account ตัวใหม่ ตามมาด้วย Line LIFF ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถ Develop อะไรต่างๆบน Line ได้ รวมถึง Rich menu ซึ่งเป็นเหมือนทางเข้าบน Line OA

ปีนั้น เคสที่เป็นที่ฮือฮาที่สุดในอุตสาหกรรม Membership solution คงหนีไม่พ้น Gon Gang Membership ของบาร์บีคิวพลาซ่า เมื่อธุรกิจย้ายระบบ Member เดิมทั้งหมดจาก Mobile app ไปสู่ Rich menu ใน Line OA แล้วประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ด้วยความที่มันง่ายและใครๆก็มี Line อยู่ในมือถืออยู่แล้ว

ผมรู้ทันทีว่าใน 1 ปี ทุกอย่างจะเปลี่ยนตามกันหมด ยุค Mobile app บัตรสมาชิกแยกแบรนด์จะจบลงอย่างแน่นอน และทุกอย่างจะถูกย้ายขึ้นไปสู่ Line OA ซึ่งลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าใน 3 ปี

พริเวจเราตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ โดยนำความรู้เดิมทั้งหมดย้าย Platform ไปบนเว็บไซต์แบบ Single page เพื่อให้สามารถใช้งานผ่าน Line OA ได้ไม่ต่างกับ Mobile application

และจริงๆด้วย ในปี 2022 อุตสาหกรรม Membership solution ก็มาถึงจุดที่เราย้าย Interface ขึ้นสู่ Line OA กันหมด ธุรกิจขนาดใหญ่มากๆที่ลงทุน Mobile application ไปแล้วจะย้ายมาหมดในปี 2025

ในอนาคต Membership solution จะกลายเป็น Core solution ไม่ต่างจากระบบบัญชี ไม่ใช่การตลาดแบบทำครั้งเดียวจบ แต่เป็นระบบที่อยู่คู่กับธุรกิจไปอีกหลายสิบปี แม้ว่า Interface จะเปลี่ยนไปตามความนิยมใน Hardware ชนิดไหนก็ตาม

Privage จึงเป็น Gon Gang ที่พัฒนาให้กลายเป็น SaaS ที่ใช้ได้ในหลากหลายธุรกิจ

ลูกค้าของเรามีตั้งแต่ร้านอาหารแฟรนไชส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ธนาคาร เต๊นท์รถมือสอง ศูนย์บริการรถยนต์ ร้านขายเครื่องมือการเกษตร ตลอดจนผับ บาร์ ธุรกิจที่อยู่ในโลก offline และมีลูกค้าซื้อซ้ำเป็นประจำ ที่ต้องการเครื่องมือจัดการสมาชิก

ธุรกิจที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ https://line.privageapp.com ธุรกิจสามารถมีระบบสมาชิกบน Line OA แบบธุรกิจขนาดใหญ่ โดยสามารถสร้าง Content รวมถึงเลือกตีมสีของตัวเองให้เหมาะสมกับ CI ของแบรนด์

ลูกค้ากดระบบจาก Rich menu เพื่อเข้าสู่หน้าบัตรสมาชิกของตัวเอง
หน้าสมาชิก รายละเอียดแต้มและบัตรสมาชิก
แคมเปญแลกของ สามารถตั้งค่าได้ลึกเหมือนเดิมไม่ต่างกับ Mobile Application
หน้ากระเป๋าคูปอง แสดง Code

หรือสามารถดาวน์โหลด PDF นำเสนอได้ที่ https://line.privageapp.com/static/pdf/privage-sale-kit.pdf

เกมการเมืองประถมวัย กับการเลือกตั้งคณะกรรมนักเรียนแบบปาร์ตี้ลิสครั้งแรกสมัย ป.6 ของผม

เป็นเรื่องราวในอดีตของการแข่งขันเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียนสมัยประถมที่ผมคิดถึงทีไรเป็นต้องเผลออมยิ้มให้กับความแสบของตัวเอง รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของเพื่อนๆในสมัยนั้นไปสักทุกที มีทั้งสัญญาว่าจะให้ มีทั้งหักหลังกันไปมา ล็อบบี้กันหน้าห้องสภา รวมไปถึงการปราศัยที่ขับเคี่ยวกันสุดๆ ตัวละครทั้งหมดในเรื่องเป็นชื่อสมมติแต่มีตัวตนอยู่จริง

อาคารเรียน ป.5 และ ป.6

ย้อนกลับไปปี 2544 ผมเรียนอยู่โรงเรียน “อนุบาลปัตตานี” ปีนั้นเป็นปีสุดท้ายของผมที่โรงเรียนนี้ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนมัธยมต้น เด็กนักเรียนชั้น ป.6 ทุกคนจะมีกิจกรรมหลักๆอยู่ประมาณ 2-3 อย่างด้วยกันให้เลือกทำ ได้แก่ วงดุริยางค์ สารวัตรนักเรียน (เหมือนตำรวจในโรงเรียน) เข้าร่วมชมรมต่างๆ หรือไม่ก็เป็นคณะกรรมการนักเรียน

ปีนั้นเป็นปีแรกที่ประชาธิปไตยในไทยเบ่งบานขึ้นมามาก ไม่เว้นแม้กระทั่งในโรงเรียนประถมห่างไกลจากกรุงเทพฯอย่างเรา ที่เปลี่ยนจากการเลือกตั้งแบบชนะทั้งพรรค (พรรคไหนคะแนนเยอะกว่า ทั้งพรรคจะได้ไปเป็นคณะกรรมการนักเรียน) เปลี่ยนไปเป็นแบบปาร์ตี้ลิสบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยใบแรกเลือกพรรคที่ชอบ ใบที่สองเลือกตัวแทนชั้นปี (เขต) ของตัวเองเข้าสู่สภานักเรียน

ในสภาจึงจะมีทั้งสมาชิกแบบปาร์ตี้ลิสที่มาจากพรรค และสมาชิกที่มาจากเขต (ชั้นเรียนละ 1 เขต) โดยผู้สมัครแบบเขตก็ถูกส่งมาจากพรรคเช่นกัน จึงทำให้สมาชิกในสภานักเรียนมีทั้งหมด 22 ที่นั่ง ประกอบด้วย

  1. สมาชิกจากปาร์ตี้ลิสจำนวน 16 ที่นั่ง มีสิทธิยกมือเลือกประธานนักเรียน และตำแหน่งต่างๆ
  2. สมาชิกจากชั้นปี ปีละ 1 ที่นั่ง ป.1 – ป.6 รวมเป็น 6 ที่นั่ง ไม่มีสิทธิในการเลือกประธานนักเรียน เป็นเพียงตัวแทนชั้นปีเฉยๆ แต่ต้องเข้าร่วมประชุมสภานักเรียนทุกครั้ง (นักเรียนชั้นอนุบาล ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง)

โดยแบบปาร์ตี้ลิส ทุกพรรคจะต้องส่งบัญชีรายชื่อพรรคละ 12 คน จากนั้นพอเลือกตั้งเสร็จจะเอาบัตรเลือกตั้งแบบพรรคมานับคะแนนรวมทั้งหมด เทียบสัดส่วนคะแนน แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นคุณครูที่รับผิดชอบจะฟันธงออกมาว่าแต่ละพรรคจะได้เป็นคณะกรรมนักเรียนแบบปาร์ตี้ลิส พรรคละกี่ที่นั่ง

ลงสมัคร

เนื่องด้วยรูปแบบกติกาที่เปลี่ยนไป ผมก็คิดในใจละว่ายังไงเราต้องได้อยู่บัญชีรายชื่ออันดับต้นๆของพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่ใช่ลงพรรคที่มีโอกาชนะมากกว่าเหมือนเคย เราถึงจะมีโอกาสได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการนักเรียน โดยตอนนั้นมีพรรคลงสมัครทั้งสิ้น 3 พรรค ได้แก่

  1. พรรคของ “แพง” (ตัวเก็งอันดับ 1)
  2. พรรคของ “พัด” (ตัวเก็งอันดับ 2)
  3. พรรคของ “พีท”

เสียดายที่ผมจำชื่อพรรคทั้ง 3 พรรคไม่ได้ จะจำได้ก็แต่ชื่อหัวหน้าพรรค โดยตัวเก็งอันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้น “แพง” เนื่องจากในสมัยนั้น คนที่จะเป็นประธานนักเรียนได้และได้รับความนิยมของนักเรียนในโรงเรียนมักจะเป็นคนที่เรียนเก่งและทำกิจกรรมไปด้วย ซึ่งแพงมีทั้ง 2 องค์ประกอบ รวมถึงสมาชิกในพรรคซึ่งเป็นเด็กหัวดีและเรียนเก่งอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

ส่วนพรรคของ “พัด” นั้นโดยรวมสมาชิกในพรรคส่วนใหญ่เป็นคนทำกิจกรรมในโรงเรียน เช่น เป็นหัวหน้าห้อง เคยเป็นสารวัตรนักเรียน เคยเป็นประธานชมรม ชุมนุมต่างๆ เป็นหัวหน้าลูกเสือ หัวหน้ายุวกาชาด แต่เรียนไม่เก่งเท่าพรรคแรก

ส่วน “พีท” เป็นพรรคทางเลือกที่มีจุดเด่นโดยการมีสมาชิกเป็นผู้ชายเกือบทั้งหมด เป็นพรรคที่ Represent ความแสบ ซน ตลก และมีอารมณ์ขันในแบบผู้ชายได้ดีทีเดียว (เห็นได้จากการปราศัย ที่จะได้รับเสียงตอบรับดีจากนักเรียน มากกว่าพรรคอื่นๆ)

ผมตัดสินใจลงพรรคของ “พัด” โดยได้เป็นบัญชีรายชื่ออันดับที่ 4 และเพื่อนสนิทของผมที่อยู่ห้องเดียวกันชื่อ “โอ๊ต” เป็นบัญชีรายชื่ออันดับที่ 3

วิธีหาเสียง

การหาเสียงในสมัยนั้น นอกจากการปราศัยหน้าเสาธงในช่วงเช้าแล้ว รูปแบบที่ได้รับความนิยมที่สุดคือการถ่ายเอกสาร “รูปวาดระบายสี” ขนาด A4 แจกให้กับนักเรียนแทนโปสเตอร์หาเสียง ใครมีรูปที่วาดระบายสีสวยๆ หรือเป็นตัวการ์ตูนที่ฮิตสมัยนั้นแจกเยอะๆก็จะได้รับความนิยม

ตัวอย่างภาพวาดระบายสีที่แจกแทนโปสเตอร์

พรรคเรามี “ติ๊ดตี่” (บัญชีรายชื่อลำดับที่ 12) ซึ่งคุณพ่อถนัดงานศิลปะ ทำให้เราได้ป้ายผ้าหาเสียงที่น่ารักเป็นรูปโปเกมม่อนเท่กว่าพรรคอื่นๆ (สมัยนั้นพิมพ์ไวนิลยังแพงอยู่ จึงต้องวาดเป็นป้ายผ้าด้วยสีน้ำมัน)

คืนหมาหอน สัญญาว่าจะให้

ภาพรวมกิจกรรมการหาเสียง ปราศัยตอนเช้าน่าเสาธง แจกภาพวาดระบายสี (ที่มีข้อความมุมขวาล่างว่าโปรดเลือกพรรคเรา) แบบนี้วนไปจนถึงวันสุดท้ายของการเลือกตั้ง วันนั้นเราแจกภาพวาดระบายสีไปเยอะมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของน้องๆ ที่มารุมรับภาพวาดระบายสีกันเต็มสนามหน้าเสาธงในช่วงพักเที่ยง จำได้ว่าคนเยอะมาก และมีน้อง ป.1 ป.2 อีกหลายคนมากที่ยังไม่ได้ภาพวาดระบายสีจากเราไปสักใบ เพราะของแจกดันแจกหมดไปตั้งแต่ 15 นาทีแรก

โอ๊ตกับพัด จึงเสนอไอเดียสุดแจ่มที่ผมยังอึ้งจนถึงทุกวันนี้นั่นคือการ “แจกลายเซ็นหัวหน้าพรรค” โดยให้น้องๆเอาสมุดเรียนมาให้หัวหน้าพรรคเราเซ็นชื่อ โดยสัญญาว่าหากพรรคเราได้เป็นประธานนักเรียนจริง ทุกคนที่มีลายเซ็นวันนี้ จะสามารถนำลายเซ็นนั้นมาแลกเป็นภาพวาดระบายสีได้หลังการเลือกตั้ง

ดังนั้นตลอดการหาเสียงของวันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งของพรรคเรานั้น จึงเป็นการแจกลายเซ็นของหัวหน้าพรรคล้วนๆ ในขณะที่พรรคอื่นๆเมื่อของแจกหมด ก็สิ้นสุดกิจกรรมหาเสียงวันนั้นไปเลย

ผมมาย้อนคิดดู นี่มันไม่ต่างกับยัดเงินเลยนี่หว่า ที่สำคัญไม่ได้ให้ของไปก่อนด้วยนะ สัญญาว่าจะให้ถ้าได้รับเลือกแล้วค่อยมารับของทีหลังด้วย โคตรแสบ (- -“)

ผลการเลือกตั้ง

เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง กิจกรรมการหาเสียงก็หยุดลง โรงเรียนหยุดเรียนช่วงบ่ายให้นักเรียนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน โดยผลการเลือกตั้งออกมาเป็น

พรรคของ “แพง” ได้ 7 ที่นั่ง
พรรคของ “พัด” ได้ 6 ที่นั่ง
พรรคของ “พีท” ได้ 3 ที่นั่ง

รวมเป็น 16 ที่นั่ง โดยไม่นับตัวแทนชั้นปี (เขต) เนื่องจากตัวแทนชั้นปี ไม่มีอำนาจในการเลือกประธานนักเรียน ถ้าผมจำไม่ผิดพรรคเราชนะแบบเขต แค่ ป.2 และ ป.4

ข้อดีของการเลือกตั้งแบบนี้จะเห็นว่าพรรคพีท ซึ่งในระบบการเลือกตั้งแบบเดิม แทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าสภาเลย เนื่องจากเป็นพรรคทางเลือกที่ไม่ได้พิมพ์นิยม แต่ในระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิส) ที่คิดคะแนนตามสัดส่วน นี่ทำให้ได้เข้าสภาถึง 3 ที่นั่งด้วยกัน เป็นสิทธิเป็นเสียง เป็นตัวแทนของกลุ่มนักเรียนผู้ชายร้ายๆในโรงเรียน

หลังจากที่ประกาศออกมา ทุกคนในโรงเรียนก็อนุมานไปว่า “แพง” จะได้เป็นประธานนักเรียนใช่ไหมครับ เพราะว่าได้คะแนนเยอะที่สุด รวมถึงได้ที่นั่งในสภานักเรียนเยอะที่สุดด้วย แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเลย ยังมีเรื่องราวหลังจากนั้นอีกหลายสัปดาห์ จนนำไปสู่เหตุการณ์ช็อคทั้งโรงเรียน เมื่อพรรคที่ได้คะแนนลำดับที่ 2 ได้เป็นประธานนักเรียน

ผมอยู่บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 ของพรรค “พัด” เลยได้รับเลือกเข้าสภาไปด้วย

ล๊อบบี้ประธานนักเรียน

เนื่องจากเป็นระบบปาร์ตี้ลิส ที่คนที่ได้รับเลือกเข้าสภานักเรียน จะต้องไปเลือกตำแหน่งบริหารฝ่ายต่างๆ เช่น “ประธานนักเรียน” อีกที ทำให้เกิดการล๊อบบี้ครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นอย่างเงียบๆ โดยพรรคเรา (6 ที่นั่ง) ล๊อบบี้กับพรรคพีท (3 ที่นั่ง) รวมเป็น 9 เสียง จะโหวต “พัด” ขึ้นเป็นประธานนักเรียน แทน “แพง” ที่มีเสียงโหวตจากตัวแทนในสภาเพียง 7 เสียง โดยสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งรองประธานนักเรียนกับ “พีท”

โคตรโหดดด โดยปกติการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรคที่ได้ที่นั่งเยอะที่สุดในสภาจะต้องเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อนใช่ไหมครับ แต่ตอนนี้พรรคที่ได้ที่ 2 กับที่ 3 กำลังรวมหัวกันจัดตั้งฝ่ายบริหารของสภานักเรียน รวมถึงดันหัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 ขึ้นเป็นประธานนักเรียนแทนด้วย บ้าไปแล้ว ไม่ต่างกับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งระดับประเทศรอบที่ผ่านมาเลย

โดยการโหวตในห้องสภาในตำแหน่ง “ประธานนักเรียน” จะเป็นการโหวตแบบยกมือ แต่ตำแหน่งอื่นๆในฝ่ายบริหารสภานักเรียน จะเป็นการลงคะแนนลับ (เขียนใส่กระดาษ นับคะแนน)

สรุป “พัด” ได้เป็นประธานนักเรียนจริงๆ โดยชนะคะแนน 9 เสียง ต่อ 7 เสียง ผมยังจำสีหน้าคุณครูที่ดูแลการเลือกตั้ง รวมถึงเป็นที่ปรึกษาสภานักเรียนได้ไม่ลืม อาจารย์แกเหวอจริงๆ

หักหลังกันภายในพรรค

ระหว่างพักการประชุม เพื่อโหวตตำแหน่งถัดๆไปหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกประธานนักเรียน “โอ๊ต” เพื่อนสนิทตัวดีของผมก็มาล๊อบบี้ผมว่าโหวตให้ “แพง” เป็นรองประธานน่าจะเหมาะสมกว่า (ในใจตอนนั้นผมแอบเห็นด้วยเพราะความเห็นใจ มันคงจะหลอนมาก ถ้าแพงซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ได้ตำแหน่งอะไรเลยในสภานักเรียน) เท่ากับว่าเรากำลังจะหักหลังพรรคของ “พีท” อีกครั้ง หลังจากที่ “พัด” ได้เป็นประธานนักเรียนจากการร่วมโหวตของพรรคพีทแล้ว

สรุป “แพง” ได้เป็นรองประธานนักเรียนจริงๆ โดยชนะคะแนนโหวตกับพี่ 9 ต่อ 7 เสียง โดยไม่รู้ว่าใครที่ย้ายฝั่งมาเลือกแพงเป็นรองประธานนักเรียนแทน “พีท” บ้าง เพราะว่าเป็นการลงคะแนนแบบลับ

ผมยังจำสีหน้า “พีท” กับ “เฟม” เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของผมที่อยู่พรรค “พีท” ได้ดี ถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น ทั้งช็อคและงงสุดๆ รวมถึงตัว “พัด” เองด้วยที่งงเหมือนกันว่าใครในพรรคตัวเองกันที่หักหลังไปเลือก “แพง” เป็นรองประธาน (ซึ่งก็คือผมกับโอ๊ตแน่ๆ 2 คน แต่อีกคนไม่รู้ใคร ทำไปได้ ร้ายจริงๆ)

ถ้าจำไม่ผิด “พีท” ได้ตำแหน่งเหรัญญิกไป ทั้งๆที่ล๊อบบี้กันมาแล้วว่าจะให้เป็นรองประธานนักเรียน

ส่วนผมได้ตำแหน่ง “ฝ่ายอาคารและสถานที่” โดยทำงานร่วมกับ “เฟม” อีกคน

ประกาศผล

หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ก็ประกาศผลประธานนักเรียนว่าเป็น “พัด” ที่หน้าเสาธง นักเรียนฮือฮากันขั้นสุด เพราะงงว่าทำไมพรรคที่ได้ที่ 2 ถึงได้เป็นประธานนักเรียน นอกจากนักเรียนงงแล้ว ครูบางท่านก็งงเหมือนกัน เพราะการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อค่อนข้างใหม่มากในปีนั้น

สัญญาว่าจะให้ ที่ไม่เคยให้

สุดท้ายลายเซ็นของหัวหน้าพรรคเรา น้องๆก็ไม่เคยได้เอามาแลกเป็นภาพวาดระบายสีจริงๆหลังเลือกตั้ง แม้ว่าหัวหน้าพรรคเราจะได้เป็น “ประธานนักเรียน” ก็ตาม

โคตรจะนักการเมืองนิสัยเสียเลย (- -“)

หน้าที่ที่ได้รับ

ส่วนงานในสภานักเรียนของผม คือได้เป็นตัวแทนนำร้องเพลงชาติ หน้าเสาธงทุกเช้า (เกี่ยวกับงานอาคารและสถานที่ตรงไหน)

สรุป

สมัยนั้นขำนะ แต่พอโตมาขนาดนี้แล้วมองย้อนกลับไปนี่โหดร้ายเหมือนกัน ไม่แปลกใจที่ยุคหนึ่งคนจึงเสื่อมศรัทธาในตัวนักการเมือง แม้กระทั่งในสเกลโรงเรียนประถมที่ไม่มีเงินมาเกี่ยวข้อง ยังมีเรื่องแสบๆให้เล่าได้ขนาดนี้ แล้วในสเกลระดับประเทศมันจะขนาดไหนกัน

จะแก้ปัญหาอย่างไร

จะแก้ที่คนผมว่ายาก เพราะคนก็ปรับตัวไปตามสภาพของกติกาของสังคม มันต้องแก้ที่ระบบ โดยเฉพาะ “ระบบการเลือกตั้ง” ที่จริงการเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสหรือบัญชีรายชื่อนั้นดี เพราะสามารถ Represent คนในสังคมทุกส่วนออกมาจริงๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดการเมืองเชิงนโยบายขึ้นมา (เห็นได้จากมีการแข่งขันนโยบายต่างๆของแต่ละพรรค) เพียงแต่ต้องปรับกติกาบางส่วนให้เหมาะสม

ผลการเลือกตั้งที่ดี มาจากกติกาที่แฟร์ และตรวจสอบได้ จุดอ่อนและปัญหาหลักๆในการเลือกตั้งสภานักเรียนครั้งนั้นที่ควรได้รับการแก้ไขจะมี

  1. ไม่ควรปล่อยให้พรรคที่ได้อันดับ 2 สามารถจัดตั้งฝ่ายบริหารขึ้นมา ควรเขียนลงไปในกติกาเลย
  2. ตำแหน่งบริหารอื่นๆในสภาควรให้ประธานนักเรียนเป็นคนเลือกขึ้นมาด้วยตัวเอง เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน และไม่มีการเจรจาให้ตำแหน่งจากพรรคลำดับอื่นๆ
  3. การลงคะแนนควรทำอย่างเปิดเผย ไม่ควรลงคะแนนลับ

ที่สำคัญที่สุดคือคุณครูที่ดูแลการเลือกตั้งในตอนนั้น ที่แม้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาบิดเบี้ยวอย่างไร แกก็ไม่ใช้อำนาจที่แกมีล้มการเลือกตั้งครั้งนั้น ยังปล่อยให้หลายๆอย่างดำเนินต่อไป และแก้โดยการปรับปรุงวิธีการเลือกตั้งครั้งถัดไป ส่วนพวกเราสภานักเรียนชั้น ป.6 ก็เกษียณไปสู่โรงเรียนมัธยม ไม่มีใครสืบทอดอำนาจต่อ ;3

Privage – กว่าจะหลุดจากโมบายแอปฯสำเร็จรูป พยายามก้าวไปสู่ Business solution สำหรับธุรกิจ B2C

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปี ที่แล้ว ถ้ามีใครสักคนถามผมว่าอยากทำธุรกิจ Tech startup ด้านไหน เราคงอยากตอบอะไรที่มันเท่ๆกว่าการทำ Membership solution แต่อะไรที่มันเท่ๆนั้นก็ได้ลองทำกันไปหมดแล้วตลอดช่วงอายุ 23 – 28 ปี

“ความเท่นั้นกินไม่ได้”

ในขณะที่งานรับจ้างเล็กๆที่เราได้รับโอกาสมาจากพี่ๆบริษัท Hotpot ในการทำ Mobile application บัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้มในปีนั้น กลับมีคนสนใจ มีคนถามถึงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงในตอนนั้นก็ไม่มีผลิตภัณฑ์อะไรของเราที่ทำเงินได้เป็นจริงเป็นจังเท่านี้อีกแล้ว

Privage (พริเวจ)

วันนั้นเลยตัดสินใจพัฒนา Privage ขึ้น บนแนวคิดที่ว่า “ถ้าธุรกิจขนาดใหญ่อยากได้” ทุกธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กก็ต้องอยากได้เหมือนกัน เกิดเป็น Privage – “โมบายแอปฯ บัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้มออนไลน์สำเร็จรูป” คิดง่ายๆว่าแทนที่จะลงทุนเป็นล้านเพื่อทำ Mobile application ขึ้นมาสักตัว ก็มาซื้อของเราไม่กี่หมื่นต่อปี ได้โมบายแอปฯ Membership พร้อมใช้เลย (privageapp.com)

เราขาย White label (Software ชุดเดิม เปลี่ยน logo และสีให้ลูกค้า ขาย แล้วนำขึ้น Store) ถือว่าใช้ได้เลยนะ มันทำเงินได้ดีในระดับหนึ่ง จนเราสามารถตั้งออกมาเป็นบริษัทได้ ผมมีโอกาสคุยกับลูกค้าธุรกิจในหลากหลาย Segment มาก ทำให้ Privage ค้นพบความต้องการเฉพาะในหลายๆ ประเภทธุรกิจ โดยมีระบบสมาชิก ระบบบัตรสะสมแต้มเป็นพื้นฐาน

เรานำแอปฯสำเร็จรูปขึ้น Store มากมายใน Android

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Privage ในขณะนั้นจึงใช้ Logo เป็นกล่องจิ๊กซอร์ประกอบกัน เพราะเราเชื่อว่าทุกธุรกิจมีความต้องการเฉพาะของตัวเอง ดังนั้น Member จึงไม่ควรเป็นแค่โมบายแอปฯบัตรสมาชิก มันต้องทำงานได้หลากหลายกว่านั้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของธุรกิจในแต่ละประเภท

เราจึงออกแบบ Mobile application solution ของเราให้เป็นเหมือนจิ๊กซอร์ที่สามารถถอดประกอบฟีเจอร์ที่ต้องการและไม่ต้องการออกได้ตามแต่ละประเภทธุรกิจในไม่กี่คลิ๊ก ในขณะเดียวกันหากอยากพัฒนาฟีเจอร์เฉพาะทางอะไร ก็สามารถพัฒนาเพิ่มเข้าไปได้

จึงจะเห็นว่าเรามีลูกค้าในหลากหลาย Segment จริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ขายปลีก ขายส่ง ธนาคาร ศูนย์บริการรถยนต์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ รวมไปถึงร้านอาหารแฟรนไชส์ นั่นเพราะเราเข้าใจตรงนี้ และเป็นจุดแข็งของ Privage มาโดยตลอด

Business model ล้ม

เมื่อ 4 ปีที่แล้วนั้นการขายว่าธุรกิจของคุณสามารถมี Mobile application เป็นของตัวเองในราคาที่จับต้องได้นั้นง่ายมาก คุยกับลูกค้า 10 ธุรกิจ แทบจะปิดการขายได้ทั้งหมด แต่ปัญหาหลักของเราจริงๆที่หนีไม่พ้นนั่นสักทีคือการตบตีกับบริษัท Apple ในการนำ solution เราขึ้น App Store ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การล้ม Business model ของ Privage ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า

ปี 2017 นโยบายเรื่องไม่สนับสนุนโมบายแอปฯสำเร็จรูป ของ Apple เริ่มเข้มข้นขึ้น

ปี 2018 Apple บังคับลูกค้าธุรกิจทุกเจ้า ต้องสมัคร Apple developer account ของตัวเอง และการอนุมัติจำเป็นต้องคุยกับพนักงาน Apple

ปี 2019 Apple เริ่มบังคับให้ Apple developer account ต้องทำ 2-Factor authentication โดยต้องผูกกับอุปกรณ์ของ Apple และอุปกรณ์ Apple 1 ชิ้นผูกได้มากสุดแค่ 2 account

เราเห็นกลิ่นแล้ว ลูกค้าทุกคนต่างโวยวาย เค้าจ่ายเงินแล้ว ทำไม Apple ถึงไม่ให้เขาผ่านสักที Privage จะคุยให้ก็ไม่ยอมคุย ต้องเป็นเจ้าของแบรนด์เท่านั้น ขั้นตอนการนำขึ้น Store ก็วุ่นวายและใช้เวลา บางครั้งเกือบ 3 เดือน ก็ไม่สามารถส่งมอบ solution ให้กับลูกค้าได้

ผมชอบพูดกับทีมงานอยู่เสมอว่า “นี่ไม่ต่างอะไรกับเราขายน้ำอัดลม 1 ขวด แต่ต้องไปขออนุญาติจากภาครัฐขายเป็นรายขวดเลย ไม่พอลูกค้าต้องรออีก 3 เดือนอีกกว่ารัฐจะอนุญาติ และได้โค๊กขวดนั้นไปดื่ม” ผมเป็นลูกค้าเราก็คงหงุดหงิดไม่แพ้กัน

ไม่ว่า Privage จะพัฒนาฟีเจอร์ให้เก่งและตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจแค่ไหน ตราบใดที่อยู่บน Mobile application และพยายามขายเป็นโมบายแอปฯสำเร็จรูป มันไม่มีทางธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยื่นได้เลย

Wallet card (วอลเล็ท การ์ด)

ต้นปี 2020 ในช่วงที่ Covid-19 เข้ามาพอดี เราจึงตัดสินใจพัฒนาครั้งสำคัญ และเป็น Vision สุดท้ายที่คิดมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่ม Privage คือรวมโมบายแอปฯทุกอัน เป็นแอปฯเดียว ทำเป็น Platform ชื่อ Wallet card โดยมี Mobile application แค่ 2 ชุดคือ

  1. Wallet card ให้ลูกค้าใช้
  2. Wallet partner ให้ธุรกิจใช้จัดการ
โมบายแอปฯทั้ง 2 แอปฯ
Wallet card partner สำหรับลูกค้าธุรกิจในการจัดการสมาชิก

แม้ว่าตัวผลิตภัณฑ์จะออกแบบมาได้ดีขนาดไหน แต่การพัฒนาตลอด 4 เดือนนั้นกลับเต็มไปด้วยความทรมาณ คำถามว่า “ใครมันจะมาโหลดโมบายแอปฯ Wallet card ของเรา” ยังคงวนเวียนไปมาอยู่ในหัวทีมงานของเรารวมถึงผู้ก่อตั้งอยู่เสมอ ยิ่งทำ ยิ่งเขียน code ลงไปแต่ละบรรทัด เรายิ่งไม่เชื่อว่ามันจะมีคนใช้ เราตอบคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่าทำไมลูกค้าธุรกิจถึงจะมาใช้โมบายแอปฯใหม่อย่างเรา นี่ยังไม่ต้องพูดถึงลูกค้าเค้าที่ยังต้องโหลดแอปฯอีก ต้องใช้เงินอีกเท่าไรในการโปรโมทให้โมบายแอปฯนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ปรอทมาแตกในเดือนสิงหาคมปี 2020 เมื่อทุกคนไม่มีจิตใจจะมาทำงานแล้ว ตัวผมเองก็เหมือนกัน ผมเห็นแววตาทุกคนที่หมดเรี่ยวหมดแรงมาทำงาน แววตาที่ไม่มีความหวังในแต่ละวันแล้วทนไม่ได้จริงๆ ทำให้เราตัดสินใจคุยกันว่าจะหยุดพัฒนาโปรเจค “Wallet card” เพื่อทบทวนตัว Privage เองว่าควรจะไปเส้นทางไหนต่อ รวมถึงทบทวนตัวเองด้วยว่าพวกเราอยากทำอะไรจริงๆกันแน่

ผมรู้นะว่า Membership solution ที่มีฟีเจอร์เฉพาะสำหรับแต่ละธุรกิจ ยังไงก็มีความต้องการอยู่จริง มันขายได้ แต่ไม่ใช่ในรูปแบบนี้

Privage Platform – Business solution สำหรับธุรกิจ B2C (Business to consumer)

วันเวลาผ่านไป

ว่างๆก็หยิบนู่น หยิบนี่ลองมาพัฒนา Prototype กัน นำไอเดียที่เคยคิดว่าไว้หลายปีที่แล้ว เอามาปั้นเป็นรูปเป็นร่างแล้วลองใช้กัน ในขณะที่กับ Privage เราก็ยังคิดไม่ออก ยังไม่เจอท่าสักที ปัญหาเรื่องเงินก็วิ่งไล่หลังกันมาแบบติดๆ แม้ Solution เดิมลูกค้าเก่าจะต่ออายุเกือบทั้งหมด แต่ผมไม่เคยพอใจกับสิ่งเหล่านี้เลย แม้มันจะหาเงินได้ แต่ตัวเองก็รู้ทั้งรู้ว่ามันยังไม่ดีพอ เราต้องทำอะไรสักอย่างกับมัน

ระหว่างนั้นเกิดวิกฤติโรคระบาด หลายธุรกิจจึงต้องปรับตัว ทำให้มีแต่คนโทรมาหา

“ไทร อยากจ้างทำระบบขาย voucher บน Line OA” ธุรกิจบริการ หรือโรงแรม

“ไทร อยากจ้างทำระบบ Delivery จ่ายค่า GP ให้กับ Grab ไม่ไหวแล้ว” ธุรกิจอาหาร

“ไทร อยากจ้างแอปฯขายของ” ธุรกิจขายปลีก

และ “ไทร อยากจ้างทำ” อีกมากมายหลายสาย ที่โทรเข้ามาตลอดปี 2020 จะว่าไปไม่มีคนโทรมาปรึกษาเยอะแยะมากมายขนาดนี้นานแล้วเหมือนกัน

พอฟังไปหลายๆสาย มันยิ่งตอกย้ำให้เราเห็นถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละ Segment ธุรกิจที่เราเชี่ยวชาญจริงๆ และเราคิดถูกแล้วที่เลิกทำ Wallet card เพราะไม่มีธุรกิจไหนหรอกที่อยากให้ลูกค้าเค้ามาโหลดแอปฯอะไรไม่รู้ที่ไม่มีใครรู้จักบนแบรนด์เค้า แต่มันควรเป็นแบบไหนดีล่ะ

ลึกๆในใจก็รู้ว่าถ้าไม่ทำโมบายแอปฯที่เป็นแพลทฟอร์มบนแบรนด์ของเราเอง มันก็เหลือทางเดียวคือก็ต้องกลับไปเป็น Software as a service บนเว็บไซต์แบบ Single page ซึ่งมีความเป็น Open source มากกว่าและไม่ผูกติดกับเจ้าของ OS แบบ Mobile application ถ้าเป็นเว็บ Mobile site ละก็ จะ Deliver กี่ Service ก็ทำได้แทบจะทันที Code ก็ centralize จะปรับเปลี่ยน แก้ไข เพิ่มฟีเจอร์ ก็สามารถควบคุมได้จากส่วนกลาง ซึ่งทำให้ต้นทุนเราถูกลงมากจนทำราคาได้

แต่ถ้าแค่จะเปลี่ยน Membership solution อันเดิมไปอยู่บน Website มันจะอยู่ได้อีกกี่ปีกัน สุดท้ายก็ต้องแข่งกับระบบสะสมแต้มเจ้าอื่นๆ ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่าตลอดหลายปีก็ไม่มีใคร Take ตลาดไปได้เสียที

มันน่าจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราต้องคิดใหญ่ขึ้น ดึงส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของเราออกมานั่นคือ “ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของแต่ละธุรกิจ” ขยับไปเป็น “Software as a service (SaaS) ที่เป็น Business solution สำหรับธุรกิจ B2C” ไปเลย โดยมีพื้นฐานเป็นระบบ Membership ที่เราเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เลยตั้งโจทย์ขึ้นมา

เพื่อให้เดินตลาดง่าย หวยเลยไปออกที่งั้นก็ทำให้มันผูกกับ Line Official Account (Line OA) ละกัน วันนึงถ้า Line ไม่อยากให้เราอยู่ด้วย เราก็ออกมาเป็นเว็บไซต์เหมือนเดิม

Privage Membership

10 เดือนหลังจากนั้นจึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แรกบน Privage platform ที่มีชื่อว่า “Privage Membership – ระบบบัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้ม บน Line official account” บนโดเมน https://line.privageapp.com

โดยทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อผ่าน App connect ของ Privage เพื่อให้สามารถเข้าผ่าน Rich menu บน Line OA ได้อย่างสมบูรณ์ ต่อไปใครอยากจะเชื่อมกับระบบอะไร เช่น ระบบ point of sale (pos) ระบบบัญชี ระบบส่ง sms หรืออะไรก็มาผ่านตัวนี้ เป็น middle ware ตรงกลางที่ใครก็สามารถมาสร้างการเชื่อมต่อได้เสมอ

พยายามหลับตาแล้วนึกภาพ Store นึกถึง Market place ที่เต็มไปด้วย Business solution มากมายสำหรับธุรกิจ B2C มากมายให้เลือก shopping ไม่ว่าจะเป็น

  • ระบบสมาชิก
  • ระบบขายคูปอง
  • ระบบจอง

ระบบบลาๆ ที่แต่ละธุรกิจในแต่ละ Segment ต้องการ มาวางขายแบบ Software as a service ให้เลือกหยิบไปใช้กับธุรกิจ

Privage Platform ที่อนาคตจะกลายเป็น Market place ที่มีหลาย Solution สำหรับธุรกิจ B2C ให้เลือกเอาไปใช้

ได้แต่หวังว่าในที่สุดแล้วเราจะก้าวข้ามผ่าน Membership solution ไปเป็น Business solution สำหรับธุรกิจ B2C ได้จริงๆ

เป็น 10 เดือน ที่หมดแรงจริงๆ เราเทกันหมดหน้าตักแล้ว ทั้งเงิน ทั้งเวลา ทั้งความรู้ในการพัฒนา Software ทั้งความรู้ในการสร้างธุรกิจตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เพื่อวางรากฐานแพลตฟอร์มหนนี้

ใครอยากทดลองใช้งานสามารถศึกษาผลิตภัณฑ์แรกเราเพิ่มเติมที่ได้ https://line.privageapp.com หรือใครอยากลองเล่น Platform เราสามารถเข้าไปสมัครเพื่อสร้างธุรกิจได้ที่ https://app.privageapp.com

ขอบคุณทุกคนใน Privage ที่พยายามด้วยกันมา รวมถึงผู้ลงทุนที่ยังเชื่อมั่นกันมาตลอดครับ

งานแต่งงาน

ปี 2014 ในขณะที่ชีวิตผมวนกลับมาถึงจุดต่ำสุดอีกครั้ง เมื่อธุรกิจที่สร้างกันมาก่อนหน้า 3 ปี ล้มเหลวไม่เป็นท่า หุ้นส่วนแยกย้ายกันไปตามทางของตัวเอง ตัวผมเรียนปริญญาโทจบพอดี แต่หารๆดูแล้วกลับมีเงินใช้ต่อเดือนไม่กี่พันบาทจากการเป็น Freelancer รับจ้างพัฒนา Software จากหอพักดีๆเดือนละ 6,000 บาท ต้องย้ายมาอยู่ห้องเน่าๆไม่มีแม้กระทั่งเตียง ตู้เสื้อผ้า หรือแอร์เดือนละ 2,000 บาท ทำงานหนัก นอนไม่หลับ แต่ไม่ค่อยมีเงิน

แม้ในปีที่แย่ที่สุดขนาดนั้น ผมกลับได้เจอ “แหม่ม” ภรรยาและคู่ชีวิตของผมในปัจจุบัน จากงาน Meeting ของกลุ่มใน Facebook ที่ชื่อว่า “แบกเป้เที่ยว” ซึ่งตอนแรกผมตั้งใจจะเข้าไปเพื่อ Survey ความต้องการตลาดของโปรเจคหนึ่งที่กำลังทำกันอยู่

ขอบคุณรูปภาพจากกลุ่ม “แบกเป้เที่ยว”

หลังจบงาน Meeting ทุกคนก็แลก Contact กัน รวมถึงตัวผมกับแหม่ม ทำความรู้จักกันอยู่ 2-3 เดือน ก็ไปเดท คุยไปคุยมาก็เหมือนคบกันไปซะแล้ว ทุกวันนี้เลยไม่มีวันครบรอบเป็นแฟน เพราะไม่รู้คบกันวันไหน

เนื่องจากเจอกันในกลุ่มท่องเที่ยว ทัศนคติในการใช้เงินเพื่อเที่ยวหาประสบการณ์จึงคล้ายกัน ทำให้ได้เดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย เกือบทุกจังหวัด รอบประเทศก็ไปมาเยอะ แต่ด้วยงบที่จำกัด จากความเสี่ยงของผมในธุรกิจที่ต้องแบกรับ จึงไม่ค่อยได้เขยิบไปภูมิภาคอื่นเท่าไร นอกเหนือจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระหว่างเดินทาง ผมชอบฟังเวลาแหม่มเค้าเล่าความฝันของตัวเองนะ แหม่มบอกผมว่าที่คุยกันนี่ไม่คุยเล่นๆนะ ต้องแต่งงาน ถ้าไม่อยากแต่งงานก็ไม่ต้องคุยกันเลยตั้งแต่แรก แรงแต่ตรงดี

อีกอันที่เปรยๆมาตลอด คืออยากจัดงานแต่ง “ริมทะเล” และความฝันสูงสุดในชีวิตเค้าคืออยากสร้างบ้านให้คุณแม่ เราต่างโม้ความฝันและเป้าหมายของตัวเองให้กันและกันฟังอยู่เสมอ

ด้วยความเป็นผม พูดแล้วก็ต้องพยายามมันสักตั้ง เลยเริ่มลงรายละเอียดเพื่อหาวิธีการไปถึงให้ได้ “แต่งงานริมทะเลหรอ?” ต้องใช้เงินเท่าไร ค่าใช้จ่ายมีอะไรบ้าง ถูกสุดที่เป็นไปได้ที่จะจัดออกมาให้น่ารักอบอุ่น จะต้องใช้เงินเท่าไร และตัวเลขกลมๆที่ออกมาจากการคำนวณครั้งแรกนั้นคือ 500,000 บาท

ไม่ง่ายเลยที่จะเก็บเงินขนาดนี้ในวันที่ผมมีรายได้แค่เดือนละ 10,000 บาท จากธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งและเพิ่งจะขายผลิตภัณฑ์ได้ เราจึงคุยกันว่าจะเปิดบัญชีร่วมกันเพื่อเก็บเงิน (นำเงินออกต้องใช้ลายเซ็น 2 คน ไม่มีบัตร ATM) โดยปีแรกเริ่มต้นที่คนละ 1,000 บาทต่อเดือน นอกจากเพื่อเก็บเงินแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กันและกัน ว่าเรามีเป้าหมายร่วมกันว่าจะแต่งงานจริงๆนะ

ในปีแรกก็ยังมีเงินเที่ยวอยู่ ธุรกิจของผมเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผมเอาเงินเก็บเราส่วนหนึ่งไปลงทุนขายของความเสี่ยงต่ำ เงินกองนี้เริ่มทำรายได้ด้วยตัวมันเองขึ้นมาบ้าง นอกนั้นก็เก็บจากรายได้จากงานประจำใส่เข้าไปเรื่อยๆ เที่ยวไปบ้าง ใช้ไปบ้าง จากหลักพันขึ้นหมื่น จนครบ 5 แสนบาทในปีที่ 4 พอดิบพอดี (จะว่าไปช้าเหมือนกันนะ)

และปีที่เป็นความฝันแรกของแหม่มจะเป็นจริงก็มาถึง หลังจากงานแต่งงานแบบพิธีผู้ใหญ่ที่ลำพูนจบ เรามีเงินเหลือประมาณ 4 แสนบาท แต่งบจริงๆที่สามารถนำมาจัดงานได้น่าจะมีประมาณ 2 แสนบาทเท่านั้น เพราะยังต้องลงทุนรวมถึงเก็บไว้บ้างยามฉุกเฉิน ในขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจ Covid19 เข้ามาพอดี หมายความว่ารายได้ผมกำลังอาจจะมีปัญหา

โจทย์ของเราคือเราอยากได้งานแต่งที่

  1. จัดริมทะเล มีชายหาด จัดต่างจังหวัด
  2. เป็นงานของทุกคน มากกว่าที่จะเป็นงานของเราแค่ 2 คน
  3. เพื่อนที่มาร่วมงานนอนที่นั่นเลย เพื่อจะได้ Enjoy เต็มที่ไม่ห่วงกลับบ้าน
  4. รองรับคน 120 คน อยู่ในงบ 200,000 บาท

คนอย่างเราที่เก็บเงิน 5 แสนบาท ยังเป็นเรื่องยากลำบาก คำว่า “สิ้นเปลือง” และ “เกินตัว” ไปหรือเปล่า ยังคงรบกวนจิตใจอยู่เสมอ

โชคดีมากที่เราได้ “นุ่น” เพื่อนแหม่มตั้งแต่สมัยมัธยมที่สตรีชัยภูมิ คอยประสานงานเรื่องสถานที่ จนเราได้สถานอบรมสัมนาเล็กๆของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งริมทะเลหัวหิน แต่ดันอยู่กลางเมืองมาอย่างไม่น่าเชื่อ พื้นที่ตรงนี้ไม่ใหญ่นัก มีสระว่ายน้ำ มีชายหาด มีที่พักขนาด 50 ห้องเตียงคู่ เหมาะแก่การจัดงานปาร์ตี้แบบ Outdoor แล้วนอนที่นั่นเลยมากๆ (ถ้าฝนไม่ตกนะ)

ที่สำคัญคือ “ราคา” จับต้องได้ เป็นจุดแรกจริงๆที่ทำให้เรามีความหวังว่า ในงบ 2 แสนบาท อาจจะเป็นไปได้ถ้าจัดที่นี่ แล้วเนรมิตรงานให้มันดีในแบบฉบับเพื่อนช่วยกัน ร่วมงานกันเอง

ผมหลับตาแล้วนึกภาพหากมีไฟปิงปองสีส้มห้อยเต็มไปหมดรอบสระว่ายน้ำคงสวยดี ที่ชายทะเลมีซุ้มมีพิธีเล็กน้อย แลกแหวนตอนพระอาทิตย์ตกดิน จากนั้นขึ้นมาดื่มกันข้างบน อาหารก็สั่งเอาบุฟเฟ่ง่ายๆจากคุณป้าที่เปิดร้านอาหารอยู่ตรงนั้น เพื่อนๆ 40% จะมีโต๊ะนั่ง 60% ที่เหลือเน้นยืนรอบๆสระแบบวัยรุ่นหน่อย

เราได้ “นิ่ม” เพื่อนสถาปนิกของเราอีกคนช่วยออกแบบการ์ดแต่งงาน ป้ายหน้างานแต่ง รวมถึงแก้วเบียร์พลาสติกแบบ Exclusive ให้ จะได้เป็นรายละเอียดเล็กๆน้อยที่สามารถถ่ายรูปลง Social network ได้

การ์ดข้างหน้า
การ์ดข้างหลัง

ได้น้องแพรช่วยจัดการเรื่องลูกโป่ง และเพื่อนๆวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อีกหลายคนที่มาร่วมงานก่อนเวลา ช่วยเป่าลูกโป่งติดตกแต่งริมสระ ที่สุดท้ายเมาแล้วเหยียบเล่นกันจนแตกหมด

ยังมีเพื่อนๆมนุษย์ศาสตร์ เอกญี่ปุ่น ม.ขอนแก่นอีกหลายคนช่วยจัดโต๊ะรับลงทะเบียน ที่สุดท้ายก็ลงทะเบียนกันเอง 5555+ (เพราะในงานมีแต่เพื่อนๆที่รู้จักกัน) ส่วนซุ้มริมชายหาดใช้ Organizer ช่วยจัดสถานที่ให้ทั้งหมด เพราะไม่มีปัญญาทำเอง รวมถึงจัดโต๊ะ จัดดอกไม้สีฟ้ารอบๆงาน และไฟปิงปอง

เราเริ่มต้นด้วยดีเจ ที่ได้ “คูน” มาเปิด Deep house ให้ก่อนเริ่มงาน แม้ว่าจะแปปเดียวก็เถอะ เพราะกว่าจะจัดเครื่องเสียงกันเสร็จ ก็เกือบพระอาทิตย์ตก (ส่วนตัวผมรักเพลง Deep house ริมทะเลมาก)

เราได้ “แพท กับ กอล์ฟ” ที่จองเป็นพิธีกรคู่มาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว จองไว้ตั้งแต่แรกๆที่รู้จักกัน มาทำหน้าที่ดำเนินพิธีต่างๆ

ผมกับค่าว (หุ้นส่วนที่ทำธุรกิจด้วยกัน) คุยกันว่างานนี้ดนตรีต้องจัดเต็ม ด้วยความที่ค่าวเชี่ยวชาญด้านดนตรี เลยคิดกันว่าเราต้องมี “เปียโน” ข้างทะเลละล่ะ ได้ข่าวว่าซ้อมมาหลายเพลงมาก แถมยังยกเครื่องดนตรีมาจากกรุงเทพฯถึง 3 ชิ้น เพื่องานนี้โดยเฉพาะ

จบพิธีริมทะเล มีแลกแหวนกันเล็กน้อย รวมถึงกล่าวขอบคุณจากพี่ๆที่บริษัทแหม่ม

โยนดอกไม้ริมหาด ก่อนจบช่วงริมทะเล
ค่าวเล่นเปียโนให้ฟังระหว่างพิธีริมชายหาด

จนมาถึงวิดีโอ Presentation ซึ่งตอนแรกว่าจะทำเป็นวิดีโอ (เนื่องจากทุกคนรู้ว่าผมชอบตัดต่อ ชอบถ่ายวิดีโออยู่แล้ว) แต่ด้วยโจทย์ของเราที่อยากให้เป็นงานของทุกๆคนในงาน ผมกลับรู้สึกว่าถ้าได้เล่าเองถึงทุกคนพร้อมภาพประกอบน่าจะดีกว่าเป็นวิดีโอประกอบเพลง นึกว่าจะใช้เวลาไม่มาก แต่กลายเป็นว่าเตรียมเนื้อหาใน Presentation รวมซ้อมพูดด้วยน่าจะมี 2 สัปดาห์กว่า กว่าจะขุดหาแต่ละรูปแต่ละ Moment ที่เจอกันในทุกๆกลุ่มเพื่อนนี่ไม่ง่ายเลย

Surprise จากเจ้าสาวมาจากพี่ๆที่ J-Power บริษัทที่แหม่มทำงานอยู่ ด้วยเพลง 2 เพลง ฮาใส่วิกไป ร้องเพลง เล่นกีตาร์ไป และภรรยาของเค้าที่เพิ่งมาจากญี่ปุ่นเล่นเปียโนไปด้วยน่ารักมากเลย

จากนั้นก็มี Surprise จากเจ้าบ่าว โดยผมเตรียมเพลงชื่อ “ข้างกัน” ของ Three man down ไป เพราะเป็นเพียงที่สื่อความหมายได้ดีถึงความรักของคนที่ต้องอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ในคอนโดเล็กๆแบบเรา 2 คน และนี่เป็นครั้งแรกในชีวิตจริงๆที่ผมร้องเพลงและเล่นกีตาร์กับค่าวไปด้วย 2 คน ต่อหน้าคนเยอะขนาดนี้ เล่นไปร้องไห้ไป ตลกตัวเองชะมัด

แหม่มกับนุ่นช่วยกันเตรียมของขวัญจับฉลากมาถึง 23 ชิ้น เพื่อมอบให้กับคนในงาน ส่วนใหญ่มีแต่ของกวนตีน พวกเหล้าให ตุ๊กตาทะลึ่งๆรูปจู๋ ทั้งแบบยาว แบบสั้น กล่องสุ่ม ชุดยังชีพต่างๆนา

ปิดท้ายด้วย Session ดีเจจาก “กี้” เพื่อนแหม่มผู้เป็นเจ้าสาวในงานแต่งที่เป็นแรงบันดาลใจอยากให้จัดงานฉลองต่างจังหวัดแบบปิดรีสอร์ทนอนกัน และก็เป็นอีกคนที่จองมาเปิดในงานเราตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเหมือนกัน มีแต่คนชอบบอกพี่ดีเจน่ารัก ได้ฉายาใหม่เป็น “ดีเจโป้ยเซียน” เพราะดมยาดมตลอดโชว ซึ่งคาดว่าน่าจะแฮงค์มาตั้งแต่คืนก่อนงาน

ยอมรับว่ามีหลายครั้งตลอดช่วงที่คบกันอยากจะล้มเลิกความคิดที่จะมีงานฉลองริมทะเลไปดื้อๆ ด้วยภาระและวิกฤตในปีนี้หลายๆอย่าง แต่เพราะเพื่อนๆหลายคนที่คอยสนับสนุนการจัดงาน ในทุกๆส่วนงาน ทั้งเพื่อนแหม่ม เพื่อนไทร สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดัน ทำให้เรากล้าที่จะยืนหยัดเพื่อทำให้งานนี้เกิดขึ้น

สนุกมากกกกกกก ในที่สุดเราก็ทำได้ งานที่เป็นของทุกคน มีแต่เพื่อนๆและคนที่รู้จักกันจริงๆกับเรา เพื่อนที่แม้ว่าจะมาจัดไกลแค่ไหนก็มา ตื่นมามีเพื่อนมาเล่าว่าผมเมาแล้วไปไล่กอด ขอบคุณเพื่อนๆที่มาร่วมงานหลายคน สาบานว่าจำไม่ได้จริงๆ รวมทั้งยังมีอีกหลายคนที่ช่วยฝากซองมาร่วมงาน ไทรกับแหม่ม ขอบคุณจากใจจริงๆครับ

ความรักเกิดจากคน 2 คนก็จริง แต่ชีวิตคู่ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีครอบครัวไทร ครอบครัวแหม่ม พี่ที่ทำงานแหม่ม เพื่อนไทร เพื่อนแหม่มอีกมากมาย ขอบคุณที่คอยสนับสนุนและแสดงความยินดีกับเรามาตลอด

ขอบคุณครับ

สรุปค่าใช้จ่าย

  • สถานที่ ที่พัก 50 ห้อง 45,000 บาท
  • อาหาร 35,000 บาท
  • เบียร์สด เครื่องดื่ม 30,000 บาท
  • Organizer ตกแต่งสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มริมทะเล 55,000 บาท
  • เครื่องเสียง โปรเจคเตอร์ 18,000 บาท
  • นักดนตรี 8,000 บาท
  • ถ่ายรูป 20,000 บาท
  • ชุดเจ้าสาว (เช่า) 4,000 บาท
  • ชุดเจ้าบ่าว (ซื้อ) 9,000 บาท
  • การ์ด 3,000 บาท
  • แก้วพลาสติก 3,000 บาท
  • จิปาถะอื่นๆ เช่น ของชำร่วย ของตกแต่ง 5,000 บาท

รวมๆราว 200,000 ไม่เกิน 250,000 บาท

ส่วนรูปถ่ายกำลังคัดกันอยู่นะครับ เยอะเหลือเกิน คัดมา 3 เดือนแล้วไม่เสร็จสักที

วิดีโองานแต่งยาวมาก ดีใจมากๆที่มี Session ที่ได้พูดถึงเพื่อนๆทุกคน 😉
จบงานน้ำมูกน้ำตาลไหล ไม่ใช่ซึ้งนะ เงินหมดดดดดดด ห้าๆ

ปี 2020

เป็นปีแห่ง Covid19 วิกฤตครั้งแรกที่ใหญ่ที่สุด ในช่วงคนชีวิตทำงานของคน Gen Y

  • เป้าหมายสูงสุดของ พริเวจ ในปีนี้คือการมีผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของความเป็นธุรกิจ Technology Startup จริงๆ (ขยายได้อย่างรวดเร็ว)
  • เป้าหมายรองคืองบกำไร อยู่ได้ด้วยตัวเอง
  • Product หลักที่ operate อยู่ 2 ตัว ยังคงเป็น Privage App (โมบายแอปฯบัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้ม ออนไลน์สำเร็จรูป) และ Privage POS (ระบบบริหารผับและร้านอาหารกลางคืนขนาดใหญ่)
  • ซึ่งอย่างที่เคยเขียนในปี 2019 ว่าทั้ง 2 ตัวไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ Startup เนื่องจากไม่ได้ออกแบบให้ขยายมันได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่แรก
  • ไตรมาสแรกจึงทุ่ม Resource ทั้งบริษัทไปพัฒนา Privage POS เพื่อหยุดเลือดไหล ซึ่งเป็นผลมาจากการไม่มีความเข้าใจตั้งแต่แรก ทำให้ต้องรื้อโครงสร้างขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น
  • ปีนี้เรามีลูกค้าทั้งสิ้น 7 ร้าน ได้แก่ ท่าช้างคาเฟ่ ฮอมบาร์ (เชียงใหม่) บริกบาร์ ท่าช้างบางกอก (ถนนข้าวสาร) ธนบุรีการ์เด้น (กรุงเทพฯ) ดิบดีบาร์ (เชียงราย) และมายา (หัวหิน)
  • Privage POS ยังคงพัฒนาฟีเจอร์และอัพเดตทุกๆ 3 เดือนอยู่เสมอ
  • ยังคงไปรับฟังปัญหาและความต้องจากลูกค้าด้วยตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน (หรือจริงๆแค่อยากไปดื่มกันนะ)
  • ต้นมีนาคม 63 ประเทศไทยสั่ง Lockdown ทั้งประเทศเกือบ 4 เดือน ลูกค้าเรา 99% เปิดร้านไม่ได้
  • รายได้บริษัทกระทบทันที
  • ตัดสินใจลดเงินเดือนทั้งพนักงานประจำและ Partime ทุกคน เพื่อลดต้นทุน
  • ไตรมาส 2 เมื่อลูกค้าปัจจุบันหยุดหมด จึงเป็นโอกาสให้เราได้กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่อย่างเต็มที่ นั่นคือ “Wallet card”
  • Wallet card เป็นโมบายแอปฯรวมบัตรสมาชิก บัตรสะสมแต้มออนไลน์ เป็น Vision สุดท้ายของ Privage ตั้งแต่แรกที่จะรวมเป็นแอปฯเดียว
  • โดยนำความรู้ Membership solution เดิมตลอด 4 ปีทั้งหมด พัฒนาลงบน Mobile Application 2 ตัว โดยออกแบบให้สามารถลองใช้ได้ ใช้ฟรีก่อนแล้วค่อยชำระเงิน
  • ทำไป 3 เดือน พบว่าคนในทีมรวมถึงตัวผมเองเริ่มหมดแรง เหตุผลหลักๆคือพอทำไป เริ่มไม่เชื่อมั่นในสิ่งที่กำลังทำอยู่ คำถามว่า “ใครจะมาโหลดแอปฯเรา” ยังคงรบกวนจิตใจทีมผู้พัฒนาอยู่เสมอ
  • เป็น 3 เดือน Covid19 ที่สับสนมาก ทั้งเหตุการณ์โรคระบาด ทั้งความไม่เชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์
  • ผมตัดสินใจพักโปรเจค “Wallet card” ไว้ชั่วคราว เพื่อทบทวนตัวเรากันเอง
  • ระหว่างพักโปรเจค อาม หุ้นส่วนหลักของเรา จึงหยิบไอเดียเดิมที่เคยพูดคุยกันไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว มาลองทำระหว่างพักโปรเจค โดยให้ชื่อว่า Forlio มาจาก Portfolio โดยได้ Idea มาจาก Blog นี้ ที่ผมมักจะเขียน รวมถึงนำ Reference งานที่ผมเคยทำมาลงและเล่าเป็นประสบการณ์อยู่เสมอ เป็น Portfolio network สำหรับ Freelancer
  • “มันคงจะง่ายนะ ถ้าไม่ต้องเขียนเอง แต่มีคน Tag มา แล้วตัวเราเองก็มีชื่ออยู่ในผลงานเลย”
  • ทำอยู่ 3 เดือนจึงเริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่รู้สึกไม่พอใจ ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ลองพัฒนาออกมาระหว่างที่พักโปรเจค หลังจากไอเดียนี้ติดอยู่ในหัวมาเกือบ 5 ปีแล้ว
  • หลังจากได้พักทบทวน ในที่สุด Membership solution ก็เจอทางที่ควรจะเป็นเสียที (ไว้ค่อยเล่าละเอียดอีกที ตอนเปิดตัวผลิตภัณฑ์เดือนมีนาคม 64)
  • ปีนี้รับน้องฝึกงาน 2 คน เป็น Business developer และ Frontend developer
  • ได้มุมมองใหม่ๆจากน้องเยอะเหมือนกัน ตั้งใจว่าปีหน้าจะรับทางฝั่งการตลาดบ้าง
  • Sale และหุ้นส่วนหลักเราออกไปอีก 1 คน (ปัจจุบันยังทำงานด้วยกันในรูปแบบตัวแทนจำหน่าย)
  • ตั้งแต่ไตรมาส 4 จึงโฟกัส Membership solution ตัวใหม่
  • เรามี Vision ที่ไกลมาก และมีโอกาสที่จะเติบโตเป็น Software as a service (SaaS) ระดับโลก
  • คาดว่า Minimum viable product (MVP) น่าจะควรเดินตลาดได้อย่างช้า 1 เมษายน 64
  • ไม่ว่ายังไงปีนี้ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการขยายแบบ Startup product ให้ได้
  • นอกเหนือจากนั้นแล้วก็ต้องงบกำไรและอยู่ได้ด้วยตัวเองเหมือนเดิม
  • งานอื่นๆ ปีนี้ปิด odm-app.com มารวมและเปิดเป็นบริษัทใหม่ชื่อ inclass.me (อินคลาส)
  • inClass เป็นสถาบันเรียนพิเศษผ่านคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเองระดับมหาวิทยาลัย โดยเราเริ่มเปิดสาขาแรกที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • เป็นโปรเจคแรกที่ผมมีโอกาสลงเงิน และเป็นหุ้นรอง (อ่านเพิ่มเติม)
  • ขายเจลนูรุกลายเป็นงานอดิเรกไปเลย ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ได้โฟกัสเลย
  • สรุปปัจจุบันมีรายได้ทั้งหมด 4 ทางเหมือนเดิม ได้แก่จากบริษัท privageapp.com, inclass.me, เจลนูรุและ Freelance รับพัฒนา Software
  • อาการเบื้องต้นหมอนรองกระดูกไม่ดีขึ้นเลย เป็นๆหายๆ แผนการออกกำลังกายก็ไม่กระเตื้องเลยตั้งแต่มี Covid19 แล้วฟิตเนสปิด ได้แต่พยุงไป พยายามนอนพักหลังเมื่อเริ่มมีอาการ
  • คนอายุ 30 กว่าเท่าผม เป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเยอะเหมือนกันแฮะ
  • ปีนี้ไปงานแต่งเพื่อน 5 คู่ ได้แก่ ฌาน-บุ๋ม อาม-พี่ตาล พี่แอม-พี่กบ บุ๋ม CPE22 และเพียว ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยประถม
  • ปีนี้หนังสือ “Startup ฉบับคนธรรมดา” ได้ออกสักที หนังสือเล่มแรกของผมที่ใช้เวลาเขียน 2 ปี จากประสบการณ์ 9 ปี ในแวดวง Technology Startup (อ่านเพิ่มเติม)
  • โดยพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 100 เล่ม เป้าหมายเพื่อเก็บ Feedback จากคนรอบตัวก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำมาปรับปรุงต่อ เพื่อนๆสามารถสนับสนุนโดยการ Pre-order นะครับ
  • ได้พี่เก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม กรุณาเขียนคำนิยมให้ ขอบคุณมากๆนะครับ
  • ปีนี้ป้าแจงเสียชีวิต ไม่เสียใจเลยที่ได้พยายามไปร่วมงานศพแม้ว่าจะอยู่ในช่วง lockdown
  • ได้กลับบ้านตรุษจีนที่ปัตตานี พร้อมแหม่มครั้งแรก
  • หลังจากเก็บเงินกันมานาน ในที่สุดปีนี้ก็ได้แต่งงานรวมถึงจดทะเบียนสมรสกับแหม่ม โดยจัดงานพิธีที่บ้านไทรที่ลำพูนช่วงกลางปี และจัดงานฉลองริมทะเลที่หัวหินช่วงปลายปี (เดี๋ยวจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับงานแต่งอีกบทความ)
  • โชคดีที่ช่วงกลางปี Covid19 กำลังซาลง ส่วนปลายปีพอจัดงานฉลองเสร็จ Covid19 ก็กลับมาพอดี เลยไม่ต้องเลื่อนทั้ง 2 งาน
  • บัญชีไทร – แหม่ม เก็บเงินได้ครบ 500,000 บาทพอดีในปีนี้
  • หมดไปกับค่างานแต่งเกือบครึ่ง ส่วนหนึ่งก็เอากลับไปลงทุนใน inClass
  • พักเก็บเงินมาเกือบจะ 1 ปี คิดว่าครบปีมิถุนายนนี้ คงต้องตั้งเป้าหมายเงินเก็บกันใหม่

ถึงเป็นปีที่ยากและเริ่มกลับมานอนไม่หลับอีกครั้ง แต่กลายเป็นว่าแม้จะลำบากไง ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือชีวิตส่วนตัว ปี 2021 ขออย่างเดียวเถอะ ขอให้ร้านนั่งชิว ผับ คอนเสิร์ตกลับมาเปิดได้อีกครั้ง เบื่อเล่นเกมจะแย่อยู่แล้ว

จดทะเบียนสมรส
แหวนแต่งงาน ชอบที่ดูไม่เกินตัว Represent ความเป็นไทร – แหม่มดี
ขบวนขันหมาก
เพื่อนบ่าว – สาว แต่งชุดแบบล้านนา จัดงานที่บ้านจังหวัดลำพูน
งานฉลองแต่งงานริมทะเลหัวหิน
โยนดอกไม้
ร้องเพลง ข้างกัน – Three man down
กล่าวคำสัญญา
” Startup ฉบับคนธรรมดา” หนังสือเล่มแรกของผม

ปี 2013

ไปเจอบทความสรุปปีแรก ที่เคยเขียนลง Facebook ขออนุญาติลงเก็บไว้หน่อยนะครับ

  • รับปริญญา วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พระจอมเกล้าธนบุรี
  • เปิดบริษัท Software house ชื่อ Delisoft Co., Ltd.
  • เปลี่ยน Office บริษัทใหม่
  • กระโดด “บันจี้จั้ม” ครั้งแรกในชีวิตที่พัทยา
  • ฟังเพลงเพื่อชีวิตมากขึ้น
  • เล่นกีตาร์เก่งขึ้นนิดนึง
  • เป้าหมายในชีวิตตอน ม.ปลาย ที่ไม่ได้ทำอย่างเดียวคือ “สัก”
  • ไปเชียงใหม่ 4 ครั้ง
  • ไป เชียงราย ลำปาง ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร ราชบุรี สุราษธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง ภูเก็ต ชลบุรี ตราด ระยอง จังหวัดละ 1 ครั้ง
  • ไป Fullmoon party! ที่พะงันมาแล้วนะเฮ้ย
  • ไปฮานอย ประเทศเวียดนาม กับเพื่อน ป.โท
  • ทำเงินแม่หายไป 40,000 บาท เพราะลงเรียนแล้วไม่ไปเรียน
  • ดรอปเทอม ป.โท หอการค้าเพื่อมาสร้างธุรกิจเต็มตัว
  • อ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและการพัฒนาตัวเองมากกว่า 20 เล่ม
  • หนังสือที่ชอบที่สุดในปีนี้คือ “Before quit your job” และ “ทฤษฏีมาร์ชแมนโลว”
  • เรียนรู้การหาเงินระดมทุนแบบ Start up
  • มีโอกาสเจรจาเงินลงทุน 2 ครั้ง แต่ล้มเหลวทั้ง 2 ครั้ง
  • ได้เจอและพูดคุยกับเจ้าของกิจการมากกว่า 20 คน
  • ซื้อคอนโดหลังแรกในชีวิต (สุดท้ายกู้ไม่ผ่าน)
  • บริจาคเงินเพื่อการศึกษา 5,000 บาท
  • ได้ทำงานให้กับ อ.อุ๊ ดีใจที่สุด เรียนมาตั้งแต่ ม.ปลาย
  • ขับ Kawasaki ER6N ไปแม่แจ่ม ดอยอินทนนท์ฟินสุดๆ
  • มั่นใจแล้วหล่ะว่าเราชอบ Big Bike
  • แม่ผอมลงในความคิดของเรา
  • พ่อลาออกมาทำสวนยางที่ลำพูนเต็มตัว
  • พาเพื่อนๆ ไปกินอาหารมื้อละเกือบหมื่น 55+
  • กินเหล้า เบียร์เยอะมาก
  • ซื้อ iPhone 5 ด้วยเงินตัวเอง
  • สนุกกับการเรียนรู้มากขึ้น
  • จัดการเงินได้ดีขึ้น
  • เลิกรับเงินจากที่บ้านได้สักที!
  • บริษัททำเงินได้เกือบ 2 ล้านบาท
  • บริษัทจ่ายเงินออกเกือบ 2 ล้านบาทเช่นกัน T T
  • สรุปหาเงินส่วนตัวได้ 170,000 บาท ตลอดทั้งปี
  • ค่าใช้จ่ายที่เยอะที่สุดคือคน ที่มีชีวิต และมีหัวใจ
  • เข้าใจเรื่องบัญชีมากขึ้น
  • พบว่าธุรกิจที่สำเร็จจะต้องประกอบด้วย ผลิตภันฑ์ กฏหมาย ระบบ การสื่อสาร กระแสเงินสด ทีม ผู้นำ และเป้าหมายสูงสุด
  • ปิดบริษัท Delisoft Co., Ltd. เพราะมันไม่สามารถนำทีมไปถึงฝันได้
  • เสียใจที่สุดคือต้องเชิญเพื่อนออกจากบริษัท 3 คน
  • ร้องไห้หนักที่สุดคือวันที่เพื่อนและหุ้นส่วนบอก “กูไม่ไหวแล้ว กูคงต้องไปทำงานประจำ”
  • รวมทีมใหม่ขึ้นมาทำ Product ของเราเอง!!
  • เพื่อนเกือบทั้งแก๊งตอน ป.ตรี มาอยู่รวมกันเพื่อทำงาน ทำความฝัน
  • เข้าใจหลักของ Passive income ในรูปแบบ Business มากขึ้น
  • ค้นพบโมเดล “ทรัพย์สิน -> เงิน -> ระบบ -> ทรัพย์สิน -> เงิน”
  • สรุปทั้งปีได้กลับบ้าน 3 ครั้ง
  • ปีนี้เรียนรู้อะไรเยอะมาก

ต้องขอบคุณพ่อกับแม่ที่เลี้ยงเรามาได้ดีขนาดนี้ เงินทอง
มากมายที่ให้มาเทียบไม่ได้เลยกับวิธีคิด และวิธีใช้ชีวิตที่
ท่านถ่ายทอดให้ไทรตลอด 24 ปี

ขอบคุณจริงๆครับ

Happy New Year 2014
ขอให้ทุกท่านได้ในสิ่งที่ท่านลงมือทำ

คำนิยมแรกของหนังสือเล่มแรก

ส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบงานเขียนมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากการอ่าน แฮรี่ พ็อตเตอร์ ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่คุณแม่เป็นครูภาษาไทย รวมถึงคุณพ่อที่ทำงานด้านสื่อ ทำให้คุ้นชินกับงานเขียน เพราะวิ่งเล่นในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีที่คุณพ่อทำงานมาตั้งแต่เด็ก

มีความฝันมาตลอดว่าสักวันหนึ่ง อยากจะมีหนังสือเป็นของตัวเอง เลยพยายามเขียนนิยายออนไลน์ขึ้นมาหลายเรื่อง เอาไปลงเว็บเด็กดีบ้าง เว็บประมูลบ้าง ส่วนใหญ่เขียนไปเขียนมาก็ออกทะเล เพราะไม่ได้วางโครงเรื่อง บางเรื่องได้รับคำชม ก็ดีใจเป็นพักๆ สลับกันไป ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

จนกระทั่งโตขึ้น เข้ามาเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในกรุงเทพฯ ด้วยความที่ไม่ได้ใช้ ทักษะเหล่านี้จึงค่อยๆเลือนหายไปตามความสนใจที่เปลี่ยนไปของตัวเราเอง

3 ปีหลังจากเรียนจบ ปี 2014 ในโครงการ True Incube Batch 2 (โครงการปั้น Startup เกิดใหม่) ผมมีโอกาสได้รู้จักพี่ๆที่ปรึกษาใน True Incube หลายคนจากหลากหลายวงการ รวมถึง

“พี่เก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม”

พี่เค้าเป็นเจ้าของบริษัท RGB72 ซึ่งเข้ามาช่วยให้มุมมองด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงไอเดียธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ พอหลังจากจบโครงการกันไปหมาดๆ พี่เค้าก็ดันออกหนังสือ

“Read everyday, repeat every month” พอดี

หน้าปก Read everyday, repeat every month

เป็น Pocket book สั้นๆ 30 ตอน ที่ชวนให้เราอ่านวันละตอนเป็นเวลา 30 วัน (1 เดือน) ก็จบ จากนั้นก็อ่านซ้ำไปเรื่อยๆทุกเดือน ฟังครั้งแรกแล้วเจ๋งโคตร Story หนังสือแน่นปึ๊ก มีเอกลักษณ์การอ่านตามชื่อของหนังสือ แม้ว่าตอนนั้นยังไม่ได้ดูเนื้อหาข้างใน แต่คิดว่าจนตายก็คงไม่ลืมวิธีอ่านของหนังสือเล่มนี้

สรุปผมอ่านรวดเดียวจบ รออ่านทุกวันวันละตอนไม่ไหว

Pocket book สั้นๆเล่มนี้ทำให้หัวใจผมพองโตขึ้นแฮะ ความฝันที่จะมีหนังสือเป็นของตัวเองเริ่มกลับมาครุกรุ่นอีกครั้ง อาจเพราะเป็นคนใกล้ตัว เขียนเอง พิมพ์เอง แจกเอง ขายเอง มันทำให้ผมรู้สึกว่าการมีหนังสือของตัวเองไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราก็น่าจะทำได้

แต่ยอมรับจริงๆครับว่าตอนนั้นไม่รู้จะเขียนอะไร จะกลับไปเขียนนิยาย จินตนาการแบบสมัยเด็กๆก็ไม่รู้มันหายไปไหนหมด เลยตัดสินใจว่าคงต้องเขียนเรื่องที่เราถนัดและทำมันทุกวันอยู่แล้วนั่นคือ “ธุรกิจเทคโนโลยี”

สิ่งหนึ่งที่จะไม่พลาดซ้ำเดิมคือ การเขียนอย่างหักโหมแล้วหมดแรงไปดื้อๆ ผมพบว่าการเขียนหนังสือนั้นต้องใช้ความต่อเนื่องไม่ต่างกับเราทำธุรกิจ ผมจึงเริ่มต้นสร้าง Blog นี้ขึ้น และเขียนประสบการณ์การทำงานในแต่ละช่วงชีวิตมาโดยตลอด จนถึงจุดหนึ่งจึงร้อยเรียงขึ้นมาใหม่เป็น

“Startup ฉบับคนธรรมดา” หนังสือเล่มแรกในชีวิตของผม

หน้าปก Startup ฉบับคนธรรมดา

หนังสือธุรกิจที่ว่าด้วยเรื่องการสร้างธุรกิจแบบ Technology Startup จากคนธรรมดาที่ไม่ได้มีเงินทุนอะไร เริ่มต้นกันมาแบบซื่อๆมาตั้งแต่เรียนจบ ลองผิดลองถูกมาก็เยอะ จนสามารถสรุปออกมาเป็นทฤษฏี เป็นแบบแผนการเริ่มต้นธุรกิจ Startup ของคนธรรมดา ว่าควรรู้อะไร ควรระวังอะไรในการตัดสินใจทางธุรกิจ

ผมใช้เวลาเขียนประมาณ 2 ปี จนต้นฉบับเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ในใจได้แต่คิดว่าอยากให้เป็นพี่เก่งที่เขียนคำนิยมแรกให้กับเราแฮะ ในฐานะผู้ที่ปลุกฝันและเป็นแรงบันดาลใจให้ผมกลับมาสู้ด้านงานเขียนอีกครั้ง ด้วยความที่ไม่ได้เจอกันบ่อย ก็เกรงใจ ไม่กล้าทักไปสักที จนพี่เก่งทักมา เมื่อเราเริ่มเปิด Pre-order ครั้งแรก

ต้องขอบคุณพี่เก่ง ที่ตอบรับเขียนคำนิยมให้อย่างไม่ลังเล อีกทั้งให้ความกรุณาอ่านหนังสือเล่มแรกของผมตั้งแต่ยังเป็นต้นฉบับ ให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมา จนผมได้นำไปปรับปรุงเนื้อหา

สุดท้ายอยากขอบคุณที่เป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างในการเขียนหนังสือให้กับผมเสมอมา (หนังสือทุกเล่มที่พี่ออกตีพิมพ์ ย้ำเตือนผมว่าควรเขียนให้เสร็จและออกได้แล้ว! 55)


คำนิยม Startup ฉบับคนธรรมดา

ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา สิ่งใหม่ ๆ ที่คุณได้ทำไปแล้วมีอะไรบ้าง?

สำหรับไทรคือการได้เดินทาง

ผมรู้จักไทรมานาน เราพบเจอกันบ้างแต่ไม่บ่อยนัก แต่หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ได้รู้ว่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ไทรได้เดินทางเรียนรู้ มุ่งมั่นในการทำธุรกิจ ระยะทางทำให้เขาได้ยิ้ม ดีใจ เสียใจ และเหนื่อยใจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความสำเร็จและอุปสรรคนั้น คือการทบทวน เปลี่ยนรอยยิ้มและน้ำตาให้กลายเป็นบทเรียน

และบทเรียนเหล่านั้นก็อยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว

หนังสือ Startup ฉบับคนธรรมดา เป็นหนังสือธุรกิจตามชื่อ แต่จุดเด่นคือความเรียบง่าย ที่เขียนโดย Startup ที่ผ่านประสบการณ์จริง ทำจริง เจ็บจริง จึงทำให้หนังสือเล่มนี้ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ ซึ่งคุณอาจจะผิดหวัง หากคุณกำลังมองหาหนังสือธุรกิจดูดีสวยหรู เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนโดยคนทำงาน ไม่ใช่นักเขียน

หนังสือ Startup ฉบับคนธรรมดาเล่มนี้จึงเหมาะกับทุกคน ไม่ว่าใน 9 ปีที่ผ่านมาคุณจะได้ทำอะไรมากมาย หรือยังไม่ได้เริ่มทำอะไรใหม่เลย เพราะบทเรียนจากการเดินทางของไทร อาจจะเป็นทางลัด ที่ช่วยให้เราได้ระมัดระวังและไม่เดินทางผิดพลาดซ้ำรอยเดิม

ถ้าเปรียบหนังสือเป็นอาหาร หนังสือเล่มนี้คงจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เต็มไปด้วยไข่ หมู ผัก และอื่นๆ อีกมากมาย อาหารเรียบง่ายในแบบที่เพื่อนทำให้เพื่อน แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจพร้อมวัตถุดิบและสารอาหารพร้อมกิน

ให้คุณได้ลิ้มรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ปรุงโดยเพื่อน ให้เพื่อน ได้อิ่มท้องและพร้อมลุยไปกับโลกแห่งธุรกิจที่ไม่เคยง่ายสำหรับใครซักคน

เพราะนี่คือหนังสือ Startup ที่เขียนโดย Startup สำหรับคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ Startup!

หนังสือ Startup แบบฉบับคนธรรมดา

เก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
กรรมการบริหาร บริษัท RGB72 และผู้ก่อตั้ง Creative talk

inClass สถาบันเรียนพิเศษผ่านคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง เน้นเชื่อมโยง local content และสร้างประสบการณ์การเรียนที่หาไม่ได้จากการเรียนออนไลน์

3 ปีที่แล้ว “พี่ยิ่ว” รุ่นพี่ห่างๆที่รู้จักกันตั้งแต่สมัย ม.ปลาย แต่กลับมาเจอกันอีกทีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) สมัยมาเรียนที่นี่ใหม่ๆ ด้วยความแรด ไม่อยากอยู่หอใน ก็ได้พวกพี่ๆนี่แหละหาคอนโดข้างมหาลัยให้ พาดื่มเหล้า พาไปถนนข้าวสาร ไปตลาดสะพานพุทธ นึกภาพไม่ออกเลยว่าพอเรียนจบมา พี่ๆเค้าจะกลายมาเปิดติวเตอร์เป็นจริงเป็นจังหน้ามหาวิทยาลัยได้อย่างไร

จากสอนพิเศษนักศึกษาในคอนโดเล็กๆหลังมหาลัย ขยายจนเป็นตึกแถว 4 ชั้นหน้ามหาวิทยาลัยชื่อ Be-Engineer เราเห็นการเติบโตของพี่เค้าและทีมงานมาโดยตลอด จนวันหนึ่งจึงได้มีโอกาสร่วมงานกัน จากปัญหาที่ว่าให้น้องที่เป็น Admin ในสถาบัน รับจองคอมพิวเตอร์เพื่อเรียน 8 เครื่องจากนักเรียนผ่าน Line@ ไม่ไหวแล้ว

เป็นโอกาสของผมเหมือนกัน ผมจึงชวน “ค่าว” เพื่อนซี้ขี้เหล้าด้วยกันแต่ไหนแต่ไร เข้ามาทำงานนี้ด้วย เรารับจ้างพัฒนาให้ Be-Engineer และใช้เวลากว่า 1 ปี พัฒนาระบบจองคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนพิเศษในสาขาขึ้น ขยับมาเป็นระบบ Login เรียนที่เชื่อมกันโดยสมบูรณ์ จนไปถึงกระทั่งสามารถซื้อคอร์สเรียนได้ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็ 2 ปีเข้าไปแล้ว โดย

“นักเรียน 1 คน เรียนต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง เลือกเวลาเรียนได้ กรอไปกลับ ดูแบบ 1.5x 2x ได้”

“จากคอมพิวเตอร์ 8 เครื่อง เพิ่มขึ้นเป็น 80 เครื่องใน 3 ปี โดยใช้ Admin เพียงคนเดียวเท่าเดิม”

ความสำเร็จนี้ทำให้มีการคุยกัน จนเกิดเป็นบริษัทใหม่ชื่อ inClass ขึ้น บนแนวคิดที่ว่าอยากขยายวิธีการทำ Local content แบบ Be-Engineer ไปทั่วประเทศ เป็น “สถาบันเรียนพิเศษแบบเรียนด้วยตัวเองผ่านคอมพิวเตอร์ ที่เน้นประสบการณ์ของผู้เรียน”

โดยประกอบด้วยหุ้นส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน และเป็นครั้งแรกที่ผมมีโอกาสทำธุรกิจที่ได้ลงเงิน และถือหุ้นรองสักที

  • ทีม Be-Engineer มีประสบการณ์สร้างกวดวิชาและพัฒนา Local content 10 ปี
  • ผมและค่าวที่พัฒนา Software มากว่า 10 ปี พัฒนาระบบเรียนพิเศษ 3 ปี
  • ทีมคุณปิง myLive ที่เชี่ยวชาญด้านระบบ Video streaming กว่า 5 ปี

เราเริ่มจากความเชื่อที่ว่าการเรียนออนไลน์ไม่ได้เหมาะกับทุกคน นอกจากเนื้อหาการเรียนที่ดีตามแต่ละพื้นที่แล้ว ประสบการณ์การเรียนที่ยอดเยี่ยมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ Lobby ห้องน้ำ แสงไฟ หนังสือเรียนคุณภาพ นอกเหนือจากนั้นเรายังออกแบบบรรยากาศการเรียนที่ทุกคนต่างเห็นกันและกัน ตั้งใจเรียน และช่วยกันเรียนมากขึ้น

สำหรับอาจารย์เจ้าของ Content ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนทำระบบและสถานที่ของตัวเองเป็นหลายล้านอีกแล้ว ที่ inClass เรามีทั้งหมด ตั้งแต่ระบบห้องเรียนสด ระบบห้องเรียนผ่านคอมพิวเตอร์ ระบบอัดวิดีโอ Facility ต่างๆที่ช่วยในการสอน รูปแบบการพัฒนา content ให้กลายเป็นสถาบันกวดวิชาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับนักลงทุนและอาจารย์ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบ Active และ Passive income

inClass เชื่อใน Local content แบบที่ไม่มีใครเชื่อและกล้าลงทุนมาก่อน

ที่แรกที่เราไปคือ “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” ขนาด 14 เครื่อง

เราใช้เวลาเพียง 15 วันในการปรับปรุงพื้นที่และวางระบบทั้งหมด ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยเอา Content แบบ Be-Engineer ไปนำร่อง ในวันที่ 19 ตุลาคม 63 ที่ผ่านมา

เรายังมี Vision อีกไกลมาก เร็วๆนี้จะได้เห็น Business model ด้านการศึกษาใหม่ๆ ที่จะทยอยออกมา ให้ทั้งกับตัวนักเรียนเอง อาจารย์ผู้สอน รวมถึงนักลงทุนที่สนใจธุรกิจด้านการศึกษา ฝากติดตามกันด้วยนะครับ